Search

เทศกาลการ “ขิง” : ย้อนชมการเล่นใหญ่ในมหกรรมกีฬา ที่เจ้าภาพเดินทางไปโชว์นอกโลก - Sanook

พิธีเปิดการแข่งขัน ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของชาติเจ้าภาพ ที่พวกเขาสามารถแสดงศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของประเทศออกมาได้อย่างเต็มที่

เทคโนโลยี นวัตกรรม วัฒนธรรม และของขึ้นชื่อมากมายต่างถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการอย่างแยบยล จนสร้างความประทับใจให้กับผู้รับชมจากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว เช่น การแสดงพิกโทแกรม ตามสไตล์เกมโชว์แบบญี่ปุ่น ในพิธีเปิดโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว หรือช็อตโหนสลิงขึ้นไปจุดคบเพลิงในโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง เป็นต้น

แต่การเล่นใหญ่เหล่านี้ไม่ได้มีขอบเขตอยู่แค่บนพื้นโลกเท่านั้น เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อวกาศได้กลายเป็นพรหมแดนแห่งการ “ขิง” ของประเทศเจ้าภาพกันไปเสียแล้ว

มาย้อนดูการเล่นใหญ่ของชาติต่าง ๆ ผู้นำมหกรรมกีฬาบนโลกขึ้นไปสู่นอกโลกได้สำเร็จว่ามีอะไรกันบ้าง

โอลิมปิกฤดูหนาว 2014 : เดินคบเพลิง (ที่ไม่มีเพลิง) ในอวกาศ


Photo : collectspace

หากย้อนไปในโอลิมปิก ปี 2008 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน พวกเขาเคยนำคบเพลิงขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดสูงสุดของโลกมาแล้ว

และที่ รัสเซีย พวกเขาก็ไม่ยอมน้อยหน้าอย่าง เพราะนอกจากจะนำคบเพลิงโอลิมปิกไปวิ่งที่ขั้วโลกเหนือแล้ว ในภารกิจ Soyuz TMA-11 ก็ได้มีการนำคบเพลิงส่งขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อให้ โอเลก โคตอฟ และ เซอร์เกย์ ราแซนสกี้ สองนักบินอวกาศชาวรัสเซีย นำออกไปเดินขณะอยู่ในอวกาศจริง ๆ มาแล้วอีกด้วย

แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้มีการนำเปลวเพลิงที่ถูกจุดจากกรุงเอเธนส์ขึ้นไปด้วย เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวจนถึงตอนนี้ที่มีการนำคบเพลิงไปเดินบนอวกาศได้สำเร็จ

ฟุตบอลโลก 2014 : เราคือแชมป์โลก (จากนอกโลก)


Photo : dfb

รอบนี้ไม่ได้มีชาติเจ้าภาพอย่าง บราซิล อยู่บนอวกาศ แต่มี อเล็กซานเดอร์ เกิรสต์ นักบินอวกาศชาวเยอรมัน ผู้หลงใหลในฟุตบอล และตามเชียร์ทีมชาติของตนจากนอกโลกทุกครั้งที่มีโอกาส

และทัพอินทรีเหล็กก็ไม่ทำให้เจ้าตัวผิดหวังหรือต้องเสียดายที่โหลดเสื้อทีมชาติของตนเองขึ้นมาบนอวกาศเลย เพราะจากประตูชัยของ มาริโอ เกิทเซ ก็ได้ส่งให้ เยอรมนี กลายเป็นแชมป์โลกสมัยที่สี่ได้สำเร็จ

เกิรสต์ เลยได้ฤกษ์ทำดาวเพิ่มอีกดวงมาติดบนเสื้อทีมชาติของเขาในทันที ซึ่งก็คงไม่มีที่ไหนเหมาะกับการเพิ่มดาวไปมากกว่าการอยู่บนอวกาศอีกแล้วแหละ (ไม่มีดาวดวงไหนถูกทำร้ายหรือนำออกมาจากวงโคจรเดิมเพื่อมาติดเสื้อนะ)

ฟุตบอลโลก 2018 : เปิดตัวโลโก้บนสถานีอวกาศ และส่งบอลนัดเปิดสนามไปนอกโลก


Photo : Press service of Roscosmos

เมื่อ รัสเซีย ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว แน่นอนว่าสถานีอวกาศนานาชาติย่อมถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เริ่มจากเดือนตุลาคม ปี 2014 พวกเขาได้เปิดตัวโลโก้การแข่งขันเป็นครั้งแรกจาก โมดูลคิโบะ โดยให้สามนักบินอวกาศชาวรัสเซีย ได้เป็นผู้เปิดเผยตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันเป็นครั้งแรก ก่อนที่ในช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2018 ลูกบอล เทลสตาร์-18 จะได้ทะยานขึ้นไปที่ความสูง 400 กิโลเมตรจากพื้นโลก ก่อนนำกลับลงมาใช้เตะในแมตช์เปิดสนามในภายหลัง

ความพีคคือในครั้งนี้ อเล็กซานเดอร์ เกิรสต์ ก็อยู่บนอวกาศด้วยพอดิบพอดี (พ่อคุณฟุตบอลโลกที่แท้จริง) ทว่าเจ้าตัวต้องชอกช้ำระกำใจอย่างเจ็บปวด เมื่อทีมแชมป์เก่าพลาดท่าพ่ายให้กับเกาหลีใต้ และตกรอบแรกไปอย่างรวดเร็ว

โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 : ดนตรีสดบนอวกาศ และการส่งมอบในพิธีปิดของนักบินทั้งสองชาติ


Photo : twitter.com/Thom_astro

หนึ่งในสิ่งที่ผู้เขียนเก็งไว้ตั้งแต่ช่วงพิธีเปิด คือในเมื่อบนสถานีอวกาศนานาชาติ ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2021 มีทั้งนักบินอวกาศจาก ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส ขึ้นไปทำงานในช่วงนั้นพอดี เราอาจได้เห็นอะไรบางอย่างจากอวกาศมามีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีการบนโลกอย่างแน่นอน

และทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่คิด เพราะในระหว่างโชว์ที่ทางผู้จัดโอลิมปิก ปี 2024 ของปารีสเตรียมมาแสดง โทมัส เพสเก้ นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส ก็ได้มาร่วมแจมเป่าแซกโซโฟนเพลงชาติฝรั่งเศสบนสถานีอวกาศใน โมดูลคูโปลา ที่มีเบื้องหลังเป็นภาพของโลกทั้งใบ จนเรียกเสียงฮือฮาจากคนดูบนโลกได้ไม่น้อย

นอกจากโชว์ในพิธีการบนโลกแล้ว อะคิฮิโตะ โฮชิเดะ นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น ผู้อยู่ในภารกิจเดียวกันกับเพสเก้ ยังได้รับมอบแผ่นป้ายโอลิมปิก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อการเป็นเจ้าภาพจากบนอวกาศกันอีกด้วย ซึ่งไม่แน่ว่าในตรงนี้ เราอาจได้เห็นทางฝรั่งเศสส่งต่อการเป็นเจ้าภาพให้สหรัฐอเมริกาจากบนอวกาศ หลังจบโอลิมปิก ปี 2024 ก็เป็นได้

โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 : สองมาสคอตบนยานสำรวจดาวอังคาร


Photo : twitter.com/marszhurong

ตัดภาพมายังโอลิมปิกฤดูหนาวที่กำลังมาถึงนี้ จีน ในฐานะหนึ่งในมหาอำนาจแห่งวงการอวกาศยุคปัจจุบัน ก็ไม่ยอมน้อยหน้าชาติอื่น ๆ แถมยังยกระดับด้วยการส่งรูปของสองมาสคอตอย่าง “ปิง ตุนตุน” และ “เซวีย หลงหลง” เดินทางไปถึงดาวอังคารด้วยเลย

ด้วยอุณหภูมิบนพื้นผิวดาวอังคารเฉลี่ยอยู่ที่ -60 องศาเซลเซียส ที่หนาวจนสามารถปลิดชีพยานอวกาศไปแล้วหลายลำ การนำภาพมาสคอตโอลิมปิกฤดูหนาวติดสอยห้อยตามไปกับยานลงจอด เทียนเวิ่น-1 ยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของประเทศจีน จึงถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยว่าจะมีการเล่นอะไรกับมาสคอตทั้งสอง หรืออาจมีอะไรซ่อนไว้เป็นเซอร์ไพรส์ในพิธีการอีกก็เป็นได้

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( เทศกาลการ “ขิง” : ย้อนชมการเล่นใหญ่ในมหกรรมกีฬา ที่เจ้าภาพเดินทางไปโชว์นอกโลก - Sanook )
https://ift.tt/RNi4DTp
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "เทศกาลการ “ขิง” : ย้อนชมการเล่นใหญ่ในมหกรรมกีฬา ที่เจ้าภาพเดินทางไปโชว์นอกโลก - Sanook"

Post a Comment

Powered by Blogger.