Search

worldแฉวงการกีฬาเกาหลีใต้ "โค้ช" ถูกเสมอ อุ้มชูให้ท้าย กลายเป็นกดขี่ - ไทยรัฐ

"ใช้อาวุธมีดข่มขู่ ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เพื่อรีดไถเงิน และบังคับให้เพื่อนร่วมทีมรุ่นน้องซักผ้าให้"

โดยทั้งหมดแห่งการกระทำย่ำยีผู้อื่นนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่ "เธอทั้งคู่" กำลังเรียนอยู่ในระดับเพียงชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลายเสียด้วย

"เธอทั้งคู่" ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้คือใคร?

"เธอทั้งคู่" คือ สองฝาแฝดดาวรุ่งแห่งวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ที่มีชื่อว่า "อี-แจยอง" (Lee Jae-yeong) และ "อี-ดายอง" (Lee Da-yeong) วัย 24 ปี นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติเกาหลีใต้ และนักตบลูกยางอาชีพสังกัดสโมสรอินชอน ฮึงกุก ไลฟ์ พิงค์ สไปเดอร์ (Incheon Heungkuk Life Pink Spiders) สโมสรวอลเลย์บอลหญิงชั้นนำในวีลีก (V-League) ของประเทศเกาหลีใต้

โดย "อี-แจยอง" เล่นในตำแหน่งตัวตบหัวเสา (Outside Spiker) ส่วน "อี-ดายอง" เล่นในตำแหน่งตัวเซต (Setter) ซึ่ง "สองสาวฝาแฝด" ถือเป็นกำลังสำคัญในการพาทีมวอลเลย์บอลเกาหลีใต้เกาหลีใต้ คว้าเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์ อินชอนเกมส์ 2014 รวมถึงการพาทีมชาติเกาหลีใต้ผ่านเข้าไปเล่นในกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ได้สำเร็จอีกด้วย (ปัจจุบันยังคงเลื่อนจัดการแข่งขันออกไปจากปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19)

ด้วยฐานะนักกีฬาตัวหลักแห่งความหวังของชาติ เมื่อบวกเข้ากับใบหน้าแสนสวย ทำให้ก่อนหน้านี้...ทั้งคู่ถือเป็นดาวเด่นสุดป๊อปแห่งวงการกีฬาไปโดยปริยาย แต่แล้ว...เมื่อปรากฏว่า ในโลกออนไลน์มีการขุดคุ้ยเรื่องราวพฤติกรรมในอดีตของ "สองฝาแฝดแห่งความหวัง" ว่า เธอทั้งคู่เคยกระทำย่ำยีกับใครเอาไว้บ้าง โดยผู้ที่อ้างว่า "เคยตกเป็นเหยื่อของพวกเธอ" ด้านมืดที่เคยถูกกลบไว้ด้วยแสงไฟแห่งสปอตไลต์ และใบหน้าอันงดงามจึงถูกพบเห็นได้ในที่สุด

โดยผู้ที่อ้างว่าเป็นเหยื่อถึง 4 คน ได้ออกมาแฉว่า พวกเธอมีพฤติกรรมทั้งวางก้าม ใช้กำลังข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และรีดไถเหยื่อมากมายรวมกันถึง 21 ข้อกล่าวหา จากนั้นเหยื่ออีกหลายๆ คน ก็ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันแชร์พฤติกรรมสุดเลวร้ายของทั้งคู่ จนกระทั่งลุกลามราวกับไฟลามทุ่ง และแม้ปัจจุบัน โพสต์แฉจาก 4 เหยื่อ และคนอื่นๆ จะถูกลบทิ้งไปทั้งหมดแล้ว และยากที่จะระบุตัวตนของผู้ที่กล่าวหาได้

แต่บรรดาผู้ที่เสพเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ กลับไม่อาจทนนิ่งเฉยกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ทำให้มีผู้คนร่วมลงชื่อถึง 120,000 คน เพื่อเรียกร้องให้ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ "บลูเฮาส์" (Blue House) ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริง จนกระทั่งนำไปสู่บทสรุปหายนะสำหรับ "อนาคตในวงการวอลเลย์บอล" ของ "ทั้งคู่"

โดยสมาคมวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ (Korean Volleyball Association) หรือ KFA ได้ออกแถลงการณ์ว่า "สองฝาแฝด" จะถูกถอดออกจากทีมชาติชุดที่จะไปเล่นกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว รวมถึงชุดที่จะลงเล่นในวอลเลย์บอลเนชัน ลีก 2021 (Volleyball Nations League 2021) และการคัดเลือกเพื่อลงทำการแข่งขันในระดับนานาชาติทั้งหมด รวมถึงออกกฎใหม่ที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมอย่างมาตรการลงโทษ "แบนตลอดชีวิต" กับบรรดาผู้ที่เคยมีประวัติกลั่นแกล้งในโรงเรียนมาก่อน

ในขณะที่ สโมสรอินชอน ฮึงกุก ไลฟ์ พิงค์ สไปเดอร์ ต้นสังกัดของสองสาวก็ตัดสินใจไม่ต่างกัน นอกจากจะมีการแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการแล้ว ยังแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศถอดทั้งคู่ออกจากทีมโดยไม่มีกำหนดด้วย

เมื่อปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน และวงการกีฬากลายเป็นเรื่อง "อื้อฉาว" ในระดับชาติครั้งใหม่ ทำให้ปัญหาหมักหมมเรื้อรังที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขนี้ ถูกนำมา "เป็นประเด็นร้อน" จนนำไปสู่การถกเถียงในวงกว้างในสังคมเกาหลีชนขึ้นอีกครั้ง

อะไรคือ จุดตั้งต้นของปัญหาการล่วงละเมิด และการทำร้ายร่างกายนักกีฬา?

ปัญหาใหญ่สำหรับเรื่องนี้ คือ โครงสร้างอำนาจในวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็น "โค้ช" หรือนักกีฬาผู้มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้ จะสามารถหลบเลี่ยงจาก ข้อกล่าวหาการใช้กำลัง หรือวาจาทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือแม้แต่กระทั่งการล่วงละเมิดทางเพศกับนักกีฬาเด็ก หรือเพื่อนร่วมทีมที่อายุน้อยกว่าได้

นั่นเป็นเพราะโรงเรียนต้นสังกัดจะพยายามปิดหูปิดตาในเหตุการณ์การกลั่นแกล้งเลวร้ายต่างๆ นานา ที่เกิดขึ้น ตราบใดที่ "โค้ช" หรือนักกีฬาดาวรุ่งผู้มีอิทธิพลเหล่านั้น ยังคงสามารถสร้างชื่อเสียงและผลิตเหรียญรางวัลต่างๆ มาแต่งเติมให้กับตู้โชว์ในโรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้ ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างมองไปในมุมเดียวกันว่า หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันจะต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปที่โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโค้ช ตัวนักกีฬา โรงเรียน ครอบครัว และรัฐบาล มากกว่าที่จะทำเพียงการลูบหน้าปะจมูกแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี หรืออาศัยเพียงวาทศิลป์ของบรรดานักการเมืองที่มุ่งให้ความสนใจเพียงปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องอื้อฉาวเดียวที่เพิ่งเกิดขึ้นในวงการกีฬาของเกาหลีใต้ในห้วงระยะเวลานี้

การกลั่นแกล้ง และการล่วงละเมิด ปัญหาหมักหมมในวงการกีฬาเกาหลีใต้?

โดยก่อนที่จะเกิดเรื่องอื้อฉาวจาก 2 ฝาแฝดนี้ ก็เคยเกิดกรณี "ซง-มยองกึน" (Song Myung-geun) และ "ชิม-คยองซอบ" (Sim Kyoung-sub) 2 นักกีฬาวอลเลย์บอลชายสังกัดสโมสร อันซัน โอเค ไฟแนนเชียล กรุ๊ป โอเคแมน (Ansan OK Financial Group OKman) ก็เพิ่งถูกข้อกล่าวหาใช้กำลังกลั่นแกล้งเพื่อนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย จนกระทั่งต้องออกมาแถลงขอโทษในพฤติกรรมสุดเลวร้ายของตัวเองอย่างเป็นทางการ และถูกแบนจากการแข่งขันขันวีลีก แบบไม่มีกำหนดมาแล้ว!

หรือหากนับย้อนไปในเดือนมกราคม ปี 2018 นักกีฬาสาวสปีดสเกตระยะสั้น (Shot Track Speed Skating) ระดับเหรียญทองโอลิมปิก อย่าง "ชิม ซอก-ฮี" (Shim Suk-hee) ก็ได้ออกมากล่าวหา "โค้ชโชแจ-บอม" (Jae-beom) ของตัวเองว่า มีพฤติกรรมใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และคุกคามทางเพศเธอมาเป็นเวลาหลายปี และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ (Choi Suk-hyeon) "ชเว ซอก-ฮยอน" อดีตนักกีฬาไตรกีฬา ได้ทลายความอึดอัดของตัวเองด้วยการออกมาแฉว่า เธอถูกคุกคามทางเพศ โดยโค้ช เทรนเนอร์ และเพื่อนร่วมทีมรุ่นพี่ ขณะร่วมสังกัดสโมสรกึ่งอาชีพ จนกระทั่งทั้งหมดจะถูกตัดสินจำคุกเป็นการลงทัณฑ์

เหตุการณ์อื้อฉาวทำลายชื่อเสียงวงการกีฬาแดนกิมจิเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งทางออกที่ว่า คือ การตั้งศูนย์จริยธรรมด้านกีฬา (Sports Ethics Center) ขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (ปี 2020) โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การดูแลความโปร่งใสในวงการกีฬา และการปกป้องนักกีฬา รวมถึงมีอำนาจในการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวในวงการกีฬาเพิ่มมากขึ้นด้วย

หากแต่...ความพยายามอันแสนทุลักทุเลที่ว่านี้ ได้กลายเป็นตลกร้ายในวงการกีฬาของเกาหลีใต้ซ้ำเติมเข้าไปอีก เมื่อ "อีซุก-จิน" (Lee Sook-jin) ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมด้านกีฬา ถูกผู้ใต้บังคับบัญชากล่าวหาว่า ใช้วาจาบีบบังคับให้ลูกน้องเข้ารับการบำบัดทางจิต โดยอ้างสาเหตุเพียงว่า "มีความเครียดมากเกินไป"

ในเมื่อ...ผู้ที่มีภาระหน้าที่ในการปกป้องนักกีฬาจากการถูกกดขี่ หรือกลั่นแกล้งโดยตรง กลับถูกตั้งข้อหาเดียวกันเสียเอง มันจึงทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับวงการกีฬามองไม่เห็นว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งโดยใช้กำลังหรือวาจา รวมไปจนกระทั่งถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ในวงการกีฬาระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเรื้อรังมาเนิ่นนานหลายทศวรรษจะถูกแก้ไขได้เพียงการตั้งหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวขึ้นมาดูแล

วัฒนธรรม "โค้ช" เป็นผู้ถูกเสมอ คือ ชนวนเหตุของปัญหาในวงการกีฬาเยาวชน?

ขนบในวงการกีฬาของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในวงการกีฬามัธยม คือ "โค้ช" เป็นผู้มีอำนาจเหนือนักกีฬาทุกคน และไม่เพียงเท่านั้น "โค้ช" ยังมีอิทธิพลอยู่เหนืออนาคตของนักกีฬาวัยเยาว์ สำหรับเส้นทางที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือการไปเป็นผู้เล่นในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้วย โดยทั้งหมดที่ว่าไปนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับความเมตตาจาก "โค้ช"

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในวงการกีฬาระดับมัธยมของเกาหลีใต้ การจะถูกพบเห็น "ความโดดเด่น" จากบรรดาแมวมองในระดับอาชีพหรือระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้นั้น มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ "โค้ช" ยอมผลักดันโอกาสให้ลงเล่นมากพอในการแข่งขันแต่ละนัดเท่านั้น ฉะนั้น แม้จะรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของ "โค้ช" ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายด้วยวาจา หรือการลงมือลงไม้มากเพียงใด นักกีฬาก็ไม่มีสิทธิที่จะแสดงออกใดๆ เพราะหากเกิดไปทำให้ "โค้ช" รู้สึกไม่พอใจแม้แต่เพียงเล็กน้อย นั่นจะเท่ากับ อนาคตในวงการกีฬาสูญสิ้นไปตลอดกาล

โค้ช = นักกีฬาอัจฉริยะ สมการที่บิดเบี้ยวในวงการกีฬาเยาวชนเกาหลี?

ซึ่งขนบ "โค้ช" เป็นผู้ถูกเสมอนั้น มันถูกผูกโยงเข้ากับสมการที่ว่า อนาคตในหน้าที่การงานของ "โค้ช" แต่ละคน ย่อมต้องมี "นักกีฬาอัจฉริยะคู่ใจ" เป็นของคู่กัน เพราะการมีนักกีฬาที่โดดเด่นในทีม ย่อมสามารถรับประกันผลงานในสนาม และหน้าที่การงานของโค้ชได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เหล่านักกีฬาอัจฉริยะในวัยเยาว์จึงได้สิทธิพิเศษเหนือนักกีฬาคนอื่นๆ ในทีม หรือพูดง่ายๆ ว่า จะได้รับการเอาอกเอาใจมากเกินกว่าปกติเป็นพิเศษ ซึ่งการถูกหลอมรวมแบบผิดๆ เหล่านี้ ทำให้เหล่านักกีฬาวัยรุ่นเกาหลีส่วนหนึ่งบังเกิดอีโก้ที่คิดว่า ตัวเอง "อยู่เหนือผู้อื่น" และสามารถจะทำอะไรกับเพื่อนร่วมทีมที่ด้อยกว่าได้ทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งการกลั่นแกล้ง หรือทำร้ายร่างกายและจิตใจ จนกระทั่งต้องจำใจออกไปจากทีมโดยไม่มีความผิด เพราะ "โค้ช" จะแกล้งทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ด้วยเห็นว่า อัจฉริยะนักกีฬารุ่นเยาว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของทีมมากกว่า

ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ "พี่น้องฝาแฝดสาวนักวอลเลย์" ที่มีการพูดถึงในบรรทัดแรกสุดนั่นเอง!

"มันก็แค่การกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมทีม แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ...การพาโรงเรียนคว้าแชมป์ในระดับชาติ แล้วอะไรมันจะสำคัญไปกว่านั้นได้ล่ะ?"

ต้องปฏิวัติวงการกีฬาเยาวชนก่อนที่จะมีเหยื่อรายต่อไป?

"คิม พยอง-จุน" (Kim Byoung-joon) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยอินฮา (Inha University) ยอมรับว่า แม้จะเป็นเรื่องยากในการควบคุมอิทธิพลของเหล่า "โค้ช" ทีมกีฬาในระดับมัธยม แต่หากจะคิดแก้ไขในประเด็นดังกล่าว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องเริ่ม คือ การปฏิรูประบบที่จะนำไปสู่การ "ตรวจสอบและถ่วงดุล" ไม่ให้โค้ชมีอิทธิพลเหนือนักกีฬามากจนเกินไป

ขณะที่ "ชอง ยง-ชอล" (Chung Yong-chul) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการกีฬามหาวิทยาลัยซอกัง (Sogang University) มองว่า ปัญหาการล่วงละเมิด หรือการใช้ความรุนแรงในวงการกีฬาระดับมัธยมของเกาหลีใต้ มันดำเนินมาอย่างต่อเนื่องร่วม 50 ปีแล้ว หากอยากจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญที่ควรแก้ไข คือ ต้องล้มเลิกความคิดที่ว่า "ชัยชนะย่อมอยู่เหนือทุกสิ่ง" นอกจากนี้ หากยังคงมองเพียงว่า เหยื่อจากน้ำมือของ "ฝาแฝดสาวนักวอลเลย์บอล" เป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล ภาพใหญ่ของปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบที่บิดเบี้ยวก็ยังคงจะผลิต "เหยื่อ" ที่ถูกกระทำย่ำยีออกมาได้อีกเรื่อยๆ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ:

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( worldแฉวงการกีฬาเกาหลีใต้ "โค้ช" ถูกเสมอ อุ้มชูให้ท้าย กลายเป็นกดขี่ - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/2NUT4qq
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "worldแฉวงการกีฬาเกาหลีใต้ "โค้ช" ถูกเสมอ อุ้มชูให้ท้าย กลายเป็นกดขี่ - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.