แวะเวียนมาดูวงการกีฬาว่ายน้ำกันบ้าง
สมาคมกีฬาว่ายน้ำดูเหมือนจะเป็นสมาคมไม่ใหญ่ ไม่ป็อปปูล่าเป็นที่นิยมติดท็อปไฟว์ของกีฬาไทย แต่พอมามีชื่อนายกสมาคมฯเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงดูเป็นสมาคมใหญ่ขึ้นมาทันทีทันใดเหมือนกัน
สมาคมกีฬาว่ายน้ำดูไม่ใหญ่ แต่อันที่จริงก็ไม่เล็ก เพราะอะไรที่เกี่ยวกับการกีฬาทางน้ำ ก็ถือว่าอยู่ในสมาคมกีฬาว่ายน้ำทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า มันมีมากมายหลากชนิดกีฬา มีทั้งก่อนเก่า ว่ายน้ำประเภทลู่ 50 เมตร 100 เมตร 1500 เมตร ฯลฯ ทั้งเดี่ยวทั้งผลัดทั้งผีเสื้อทั้งกบฟรีสไตล์กรรเชียง ไปจนถึงว่ายน้ำมาราธอน และจากมาราธอนสระก็ไปเป็นมาราธอนมหาสมุทรว่ายกันเป็นหลายสิบกิโลเมตร ต่อด้วย กระโดดน้ำ ต่อด้วยการแข่งขันกีฬาทีมอย่าง โปโลน้ำ ไปจนถึง ระบำใต้น้ำ
จนในที่สุด ฟีน่าหรือสหพันธ์ว่ายน้ำเอง ก็เอาไม่อยู่ ไม่สามารถจำกัด กีฬาทางน้ำเพียงคำว่า ว่ายน้ำหรือ swimming ได้อีกต่อไป จนปัจจุบันต้องกลายเป็น สหพันธ์อควอติก หรือกีฬาทางน้ำแทนคำว่า ว่ายน้ำ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา 2566 ทางประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยนชื่อตาม เป็นสมาคมกีฬาอควอติก หรือสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย เพื่อตามให้ทัน
เมื่อว่ายน้ำมันไม่ไช่แค่ swimming แต่มันเป็นกีฬาทางน้ำหรือ อวอติก ทั้งหมด รูปแบบของการพัฒนากีฬาทางน้ำก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ การแข่งขันต่างๆมันไม่ได้อยู่แต่ในสระและไม่ได้มีเพียงแต่วางลู่ แล้วแข่งขัน แต่มันยังเป็น มาราธอน เป็นโปโลน้ำ กระโดดน้ำ สปริงบอร์ด แพลทฟอร์ม เป็นระบำใต้น้ำ มีกล้องที่จับภาพนักกีฬาใต้น้ำเพื่อให้คะแนนพร้อมๆกับที่อยู่บนน้ำด้วย
แม้แต่เรื่องลู่ก็ยังเปลี่ยนไป เนื่องจากปัจจุบัน การแข่งขัน เวิลด์อวอติก กีฬาทางน้ำชิงแชมป์โลก ไม่ได้มีแค่ 8 ลู่ แต่ขยับเป็น 10 ลู่ ต่อการแข่งขัน และสระถูกขยายจาก 25 ไปเป็น 50 เมตร กล่าวคือ เมื่อทำการแข่งขัน 50 เมตร ก็กระชากทีเดียว ไม่ต้องมีกลับตัว แต่เป็นม้วนเดียวจบ
นอกจากนี้ก็ยังต้องมี ยิมบก สระแข่ง สระวอร์ม แพลทฟอร์ม สปริงบอร์ด
แต่ปัจจุบันประเทศไทยศูนย์ซ้อมยังเป็นสระ 25 เมตร ที่สร้างโดยการกีฬาแห่งประเทศไทยเมื่อ 40 ปี ที่แล้ว รวมสปริงบอร์ด และแพลทฟอร์ม สมัยพระเจ้าเหา
โดยปัจจุบัน ทางสมาคมฯจะต้องเตรียมตัวสำหรับการไปเเข่งขันระดับโลก จึงต้องใช้วิธี ฝากเลี้ยง ด้วยการส่งตัวนักกีฬาไปฝึกตาม สถาบันการศึกษาแแห่งใหญ่ๆที่เงินถุงเงินถัง ไปซ้อม ม.ธรรมศาสตร์บ้าง อัสสัมชัญสมุทรปราการบ้าง ชมรมว่ายน้ำบ้าง ส่วนมาราธอนไปซ้อมบึงหนองจอก แยกย้ายกระจัดกระจายกันไป แล้วค่อยมารวมตัวเมื่อแข่งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรือ เวิลด์อควอติกกันที เป็นที่ลำบากสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นอย่างยิ่ง
ก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์
จริงๆแล้วในการวางแผนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ จากที่คุยกับ ทางสมาคมกีฬาทางน้ำมา สมาคมฯก็ได้วางแผนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยการวางแผนมากว่า 3 ปี ด้วยกันเพื่อสร้าง อวอติกเซนเตอร์ ศูนย์กีฬาทางน้ำ
หลังจากที่สำรวจ และวางแผน ร่วมกับ กกท.และดำเนินการจัดเตรียมการก่อสร้างทั้งแผนและงบประมาณ ซึ่งผ่านกลั่นกรองหลายรอบ ใช้เวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งผ่านด่านไปจนถึงคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลประยุทธ ช่วงปลายสมัยรัฐบาล ซึ่งก็มีการกลั่นกรองปรับแก้อีกหลายสเต็บก่อนสุดท้าย กำลังจะเข้าสู่วาระพิจารณา อนุมัติ ก่อนจะกลายเป็นว่า หมดสมัยรัฐบาล สิ้นอายุขัย ครม.พอดี
โครงการจึงถูกพับเก็บใส่กล่อง รอผู้มาเปิดกล่องแพนดอร่า ศูนย์กีฬา อควอติก โครงการนี้ต่อไป อย่างไม่รู้ชะตากรรม
โดยในปัจจุบัน เพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ต่างก็ทำศูนย์ อควอติกเซนเตอร์กันหมดแล้ว ก็เหลือแต่พี่ไทยยังไปต่อไม่ได้
จนล่าสุดศูนย์จะสร้างใหม่ กลายเป็นสระปรับปรุงใช้แก้ขัด
กกท.เตรียมขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน โดยจะปรับสระเก่า 40 ปีนี้ เป็นสระใหญ่ขึ้น ให้พอได้ถูๆไถๆซ้อมได้ ขยายเป็น 10 ลู่ แต่ยิมบก สระวอร์ม
โดยนำผู้เชี่ยวชาญการสร้าง อควอติกเซ็นเตอร์ เพื่อมาตรวจสอบและดูสระว่ายน้ำ กกท. เพื่อเตรียมปรับปรุงเป็นสถานที่แข่งขันกีฬาทางน้ำรองรับกีฬาซีเกมส์ 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2568 ใช้เวลา 1 ปี ปรับโฉมให้เป็นสระที่รองรับการแข่งขันกีฬาทางน้ำได้ครบทุกประเภท รวมทั้งเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ 2024 เท่านั้นพอ
แต่แล้วาระนี้ก็ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการ
เรื่องนี้ก็ต้องย้อนกลับมาดู และตั้งคำถามกับตัวเองว่า อนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เราไม่ได้ขยับตัวตามให้ทันโลก
ซีเกมส์ 2025 กำลังจะมา เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์กำลังจะเกิดขึ้น แต่ การก่อสร้างศูนย์กีฬามาไม่ถูกกาละเทศะ มาไม่ทันการใช้งาน
แม้แต่ขณะนี้ การปรับปรุงสระ ไม่ได้สร้างศูนย์ก็ยังเตะลูกกลิ้งกันไปกลิ้งกันมา มีทีท่าว่าจะสร้างไม่ทันกำหนดใช้
ก็ไม่ต่างกับตอน สร้างสนามฟุตซอลโลกไว้ใช้งาน หลังจากจบการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ฉันใดฉันนั้น
เราต้องการเติบโต ต้องการพัฒนาชาติด้วย ซอฟฟ์ พาวเวอร์
แต่องคาพยพต่างๆ ไม่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน ไม่มองภาพรวมเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง
นักกีฬา เจ้าหน้าที่ ความสำเร็จของชาติ ที่ต่างรอคอย การเกื้อหนุนการพัฒนานี้อยู่อย่างมีความหวัง
แต่ความหวัง มันแทบจะไม่มีเลย กับการลงไม้ลงมือเพื่อจะพัฒนาให้ทันโลกในสไตล์บ้านเราในทุกวันนี้
.................
วันกล้า ขวัญแก้ว
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์
https://ift.tt/X7SlR1h
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กีฬาทางน้ำของไทย จะไปทางไหนต่อ ? by กล้า ปีนเกลียว - ไทยรัฐ"
Post a Comment