Search

ค่าธรรมเนียม VS ค่าลิขสิทธิ์ มูลค่ากีฬาซีเกมส์ อยู่ตรงไหน - ไทยรัฐ

ค่าธรรมเนียม VS ค่าลิขสิทธิ์ มูลค่ากีฬาซีเกมส์ อยู่ตรงไหน

ตอนแรกนึกว่า ดราม่ามหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ซึ่งกัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เดือนพฤษภาคมนี้ จะมีแค่ กุน ขแมร์ ที่ทำเอาโลกโซเชียล ร้อนระอุ ใส่กันไม่ยั้ง

เกินขอบเขตของคำว่ากีฬาไปมาก !!!

กลับกลายเป็นว่า ตอนนี้ มีประเด็น ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่กัมพูชา คิดไทยแบบไม่เกรงใจ 16 ชนิดกีฬา บวกพิธีเปิดและปิด 8 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28 ล้านบาท ขาดตัว เพิ่มเข้ามาอีก

ทำเอาร้อนถึงแฟนกีฬาทั่วประเทศ มีความเห็นตรงกัน แพงขนาดนี้ ไม่ดูก็ไม่ตาย !!!

เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร ก็ต้องย้อนไปเล็กน้อย ปกติการถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ ชาติเจ้าภาพ จะคิดไปในลักษณะค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าดำเนินการ ไม่ให้เข้าเนื้อ ในการผลิตสัญญาณ

เป็นไปในลักษณะแบ่งปัน ช่วยเหลือกันมากกว่า

ไล่เรียงจาก ซีเกมส์ ปี 2017 ที่มาเลเซีย ทางเจ้าภาพมีการเก็บค่าธรรมเนียมไปยังแต่ละชาติเพียง 5 พันเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.75 แสนบาท จากนั้นซีเกมส์ ปี 2019 ที่ฟิลิปปินส์ และซีเกมส์ ปี 2021 ที่แข่งขันในปี 2022 ที่เวียดนาม มีการปรับขึ้น เป็น 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 แสนบาท

ศ.เจริญ วรรธนะสิน หนึ่งในมนตรีซีเกมส์ของไทย ยอมรับว่า มนตรีซีเกมส์ ไม่เคยรับทราบแนวคิดของเจ้าภาพกัมพูชา ในเรื่องการเก็บค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาก่อน

อาจเป็นไปได้ว่า ข้อบังคับหนึ่งในธรรมนูญซีเกมส์ ระบุไว้ว่า รายได้จากการถ่ายทอดสดทั้งหมด จะเป็นของประเทศเจ้าภาพ จึงทำให้เกิดไอเดียนี้

จริงอยู่เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้าภาพ แต่ก็มองว่าตัวเลขดังกล่าว สูงเกินไป !!!

ขณะที่ วัธ จำเริญ เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ของกัมพูชา แจกแจงในเวลาต่อมาว่า กัมพูชา ไม่เคยเรียกร้องราคาสำหรับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้

ที่มีการรายงานไปก่อนหน้านี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการเจรจาระหว่างหน่วยงานของฝ่ายจัด และไทย ยังดำเนินอยู่

“เราไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาค่าธรรมเนียม เนื่องจากเราปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานของเรา ค่าธรรมเนียมขั้นสุดท้าย จะเป็นไปตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกัน และกัมพูชา ยังไม่ได้มีการตัดสินใจในเรื่องนี้ เราไม่ได้บังคับให้ใครต้องจ่ายค่าสิทธิ์” วัธ จำเริญ กล่าว

สืบสาวราวเรื่องไปมา ก็ได้ความว่า ฝ่ายจัดการแข่งขันของเจ้าภาพกัมพูชา มอบให้ เอเยนซี่ ไปประสานเรื่องค่าลิขสิทธิ์กับชาติต่างๆ โดยคิดราคาตามตลาด ตามความสนใจ ตามขนาดของฐานผู้ชม ซึ่งไทย เป็นตลาดใหญ่สุดของภูมิภาค เลยดีดลูกคิด ออกมาในราคาดังกล่าว

ล่าสุด ตอนนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งดูแลช่อง ที สปอร์ต อยู่ และได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดในประเทศ จากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ กำลังเจรจากับทางเจ้าภาพโดยตรง พร้อมกับแจ้งไปว่า ราคาที่เอเยนซี่ แจ้งมา เรารับไม่ได้

ขณะที่ ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และ ซีอีโอ สหพันธ์ซีเกมส์ เปิดเผยไว้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ว่า ฝ่ายจัดการแข่งขันของเจ้าภาพ และฝ่ายไทย จะนัดเจรจาให้ได้ข้อสรุป ในวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยที่เอเยนซี่ ซึ่งฝ่ายจัดตั้งขึ้น มาจากมาเลเซีย จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

เป็นการคุยกันแบบตรงๆ ไปเลย จะซื้อหรือไม่ซื้อ กรณีถ้าซื้อตัวเลขจะจบที่เท่าไร จะไปเป็นตามที่มีกระแส คาดว่าจะอยู่ที่ 2 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านบาทหรือไม่

ก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าสุดท้าย จะเป็นอย่างไร

โดยทาง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. บอกไว้ชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า ถ้าราคาสูงอย่างนั้น คงเป็นเรื่องยาก ตอนนี้กำลังเจรจาในราคาใหม่อยู่ อ้างอิงจากราคาเดิมเป็นหลัก อาจจะสูงขึ้นมาหน่อย ตามปัจจัยเวลา ค่าเงิน ก็พอที่จะรับได้

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ มองเป็นการก้าวกระโดดที่รวดเร็วเกินไปก็คงไม่ผิดนัก

แน่นอนว่า ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา เวลานี้มีอยู่ทั่วโลก ถูกแพงว่ากันไปตามมูลค่าของแต่ละกีฬา ของแต่ละเกม การมีไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ในซีเกมส์ ควรต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ราคาไม่แพงเกินไป ให้พอไปถัวกับค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพ ไม่ให้ขาดทุน มีกำไรนิดหน่อย ถือว่าใช้ได้ พอรับได้

แต่นี่ ต้องยอมรับว่า ยังมีความก้ำกึ่งและแยกกันไม่ออกอยู่ ระหว่างคำว่า ค่าธรรมเนียม กับ ค่าลิขสิทธิ์ !!!

หากมองเป็นคำๆ ค่าธรรมเนียม ก็เป็นเรื่องของการคิดค่าดำเนินการต่างๆ ขณะที่ ค่าลิขสิทธิ์ เป็นมูลค่าของแต่ละกีฬา แต่ละเกม อย่างที่กล่าวไป

ในซีเกมส์ครั้งนี้ มีความพยายาม ที่จะก้าวข้าม คำว่าค่าธรรมเนียม ที่แต่ก่อนมองเพียงช่วยเหลือกัน ให้ได้ดูถ่ายทอดสดกันในภูมิภาคอาเซียน ไปสู่คำว่าลิขสิทธิ์กีฬา ที่เป็นตัวเงินที่สูงกว่า

ทว่าเมื่อมองย้อนมาดูมูลค่าของกีฬาซีเกมส์ ที่ผ่านมา และตอนนี้เป็นอย่างไร ก็เลยมีคำถามตามมาว่า ถึงเวลาที่จะคิดเป็นค่าลิขสิทธิ์แล้ว หรือราคาลิขสิทธิ์ที่สูง สวนทางกับมูลค่าของเกม อย่างสิ้นเชิงหรือไม่

จริงๆ แล้ว แฟนกีฬาในภูมิภาคนี้ สนใจอยู่แค่ไม่กี่กีฬา มี ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ เป็นหลักเท่านี้

สรุปทำนะทำได้ จะปรับจากค่าธรรมเนียม มาเป็นค่าลิขสิทธิ์ ยังพออนุโลม ได้อยู่ แต่ในระยะเริ่มแรก ไม่ควรแพงเกินไป เอาให้พอสมน้ำสมเนื้อ ดีกว่าหรือเปล่า

เพราะดูจากต้นทุนแล้วไม่เท่าไร แต่กลับมาคิดราคาขายแพงเว่อร์ มองข้ามเรื่องการช่วยเหลือกัน ในหมู่ภูมิภาคอาเซียน ไปเรียบร้อย

ปัญหาเลยบานมาเรื่อยๆ เช่นนี้...

ฟ้าคำราม

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ค่าธรรมเนียม VS ค่าลิขสิทธิ์ มูลค่ากีฬาซีเกมส์ อยู่ตรงไหน - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/J0Dkt9v
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ค่าธรรมเนียม VS ค่าลิขสิทธิ์ มูลค่ากีฬาซีเกมส์ อยู่ตรงไหน - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.