หญิงไทยที่ต้องอุ้มท้องและคลอดลูกโดยขาดคนรักข้างกาย ลูกสาวที่ต้องอำลาแม่ที่ใกล้สิ้นใจผ่านวิดีโอคอล และชีวิตคู่ที่ต้องหยุดชะงักอย่างไร้ความหวัง นี่คือเรื่องราวของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า "ถูกลืม" จากนโยบายของรัฐบาลไทยในการปิดน่านฟ้า และการจำกัดจำนวนคนไทยในต่างแดนกลับมาตุภูมิ
"ก่อนหน้านี้หนูมีความหวังมากเลยนะ ว่าประเทศจะเปิดน่านฟ้าแล้วแฟนจะเข้าไทยมาได้…ตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนมาทำใจแล้วว่า อาจต้องคลอดลูกคนเดียว" เพชรรัตน์ สุบงกช ว่าที่คุณแม่วัย 28 พูดไปพลางลูบคลำท้องที่ใหญ่ใกล้คลอด
ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เธอต้องอุ้มท้องและใช้ชีวิตเพียงลำพัง กำลังใจจากคนรักมีเพียงใบหน้าและเสียงจากปลายสายวิดีโอคอล
"เดือนกุมภาฯ เรายังอยู่ด้วยกันที่ไต้หวัน แล้วฉันกลับมาเตรียมเอกสารเพื่อจะจดทะเบียนสมรสกัน"
เพชรรัตน์เดินทางเข้าไทยช่วงสิ้นเดือน ก.พ. ส่วนแฟนชาวไต้หวัน มีกำหนดบินตามมาวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งกลับกลายเป็นวันแรกที่ไทยห้ามเที่ยวบินพาณิชย์เข้าประเทศทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรส แฟนของเธอจึงไม่สามารถยื่นขอวีซ่าติดตามครอบครัว ประเภท Non-Immigrant "O" ได้ ความหวังเดียวที่พ่อของลูก จะได้มาอยู่ในวันคลอด คือ รัฐบาลไทยอนุญาตให้เที่ยวบินพาณิชย์จากต่างประเทศบินเข้าประเทศ ได้ตามปกติ หลังประกาศเลื่อนมาหลายครั้ง
"ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล เวลาเห็นเขาไปกันเป็นครอบครัว มีแฟนคอยถือกระเป๋าให้ เดินไปด้วยกัน โห หนูร้องไห้เลยนะ มันจี๊ดมากเลยนะ" เสียงของเธอชะงักไป แล้วใช้มือปาดเช็ดน้ำตา
เพชรรัตน์เป็นหนึ่งในหญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่อุ้มท้อง เตรียมเข้าสู่การเป็นคุณแม่เพียงลำพัง เพราะแฟนชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ทันก่อนการปิดน่านฟ้า ซึ่งมีประกาศแจ้งล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน
คุณพ่อบนจอโทรศัพท์
พัชรี รัตตะรังสี อยู่ในชุดคลุมท้อง สถานการณ์ของเธอไม่ต่างจากเพชร แฟนชาวเกาหลีใต้ของเธอเข้าประเทศไทยไม่ได้ และพวกเธอยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส
"แฟนจะบินเข้าไทยทุกเดือนอยู่แล้ว แล้วเราไม่คิดว่าประเทศจะปิด คือแผนทุกอย่างคือพังหมดเลย" และเธอทำใจแล้วว่าคงต้องคลอดลูก ตามกำหนดกลางเดือน ก.ย. นี้ โดยมีคนรักให้กำลังใจผ่านวิดีโอคอล
"ต้องเข้มแข็ง…เราพยายามไม่ร้องไห้ให้เขาเห็น" ถึงตรงนี้เธอสะอื้นไห้ ปลดปล่อยความอัดอั้นที่กลั้นมาหลายเดือน
"มันสะเทือนใจนะ ยิ่งวันแรกที่เราไปฝากท้อง คุณหมอถามว่า คุณพ่อมาด้วยไหม มันจุกมาก"
การสัมภาษณ์แบบประชุมสายผ่านวิดีโอคอลหยุดไปชั่วครู่ มีเพียงเสียงกลั้นสะอื้น และภาพเช็ดน้ำตาของพัชรี ปรากฏบนหน้าจอ
ช่อผกา แสงสุข ที่วิดีโอคอลมาจากจังหวัดทางภาคใต้ของไทย เข้าใจความรู้สึกของพัชรีดี เพราะเธอผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผ่านการคลอดบุตรโดยไม่มีพ่อที่หน้าห้องคลอด
เดิม ช่อผกากับแฟนชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และตั้งใจจะไปคลอดที่ฝรั่งเศสเพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนเกิด ของลูกสาว ชายหนุ่มของเธอจึงเดินทางไปก่อนเพื่อเตรียมเอกสารให้เธอขอวีซ่าแบบระยะยาว
แต่โควิด-19 และการปิดน่านฟ้าของไทย ทำให้ในวันคลอด เธอทำได้เพียงเปิดวิดีโอคอลให้แฟนได้เห็นหน้าลูก
"แฟนเห็นหน้าลูก แกก็ร้อง น้ำตาไหล" เธอหยุดครู่หนึ่งเพื่อซับน้ำตา "เพราะเป็นลูกคนแรกของเราทั้งสองคน เหตุการณ์นี้เหมือนไม่มีพ่อที่หน้าห้องคลอด รู้สึกไม่ดีเลย"
ทุกวันนี้ ลูกสาว 'น้องแอมเบอร์' อายุใกล้ 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้ เนื่องจากสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ระบุว่า "ต้องให้คนที่เป็นสัญชาติฝรั่งเศสมาแจ้งเกิดให้เท่านั้น" เพราะทั้งคู่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้อาศัยอยู่ร่วมกันแบบสามี-ภรรยามา 6 ปี
"พวกเราเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืม"
ทุกครั้งที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยแพร่ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก ประกาศการเลื่อนกำหนดอนุญาต ให้อากาศยานเชิงพาณิชย์เดินทางเข้าประเทศไทย จะมีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเหมือน เพชรรัตน์ พัชรี และช่อผกา เข้าไปแสดงความเห็นและวิจารณ์การทำงานของ กพท.
กลุ่มคนที่รู้สึกว่าถูกรัฐบาลไทย "เพิกเฉย" ได้รวมกลุ่มกันบนเฟซบุ๊ก เพื่อแบ่งปันข่าวสารการเดินทางเข้าไทยของชาวต่างชาติ จนหลายเดือนผ่านไปแบบไร้ความชัดเจนถึงการเปิดน่านฟ้าเสรี แอดมินของกลุ่ม จึงตั้งเพจเฟซบุ๊ก Love is not tourism Thailand ขึ้น เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
"ทุกครั้งที่ทางเพจ กพท. อัพเดตว่าจะปิดน่านฟ้าต่อ ทุกคนจะเข้ามาบอกว่า รออย่างไม่มีความหวัง ท้อใจมาก จะเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว เราเห็นคอมเมนต์แบบนี้เป็นหลายร้อยคอมเมนต์ เราจึงเปิดเพจนี้ขึ้นมาเพื่อจะให้กำลังใจกัน" เทพสวรินทร์ ตะเพียรทอง กล่าวกับบีบีซีไทยและเสริมว่า แม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่จากที่ได้รับฟังเรื่องราวที่ "น่าเศร้า" จากคนในกลุ่มและเพื่อนชาวต่างชาติ เธอจึงตัดสินใจว่าเธอต้องทำอะไรสักอย่าง
"พวกเราเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืม" นี่เป็นคำเริ่มต้นของโพสต์ที่ประกาศข้อเรียกร้องพวกเขา
"พวกเราอยากกลับบ้าน อยากเจอครอบครัว หอมแก้มลูก ได้กอดคุณแม่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตบ้าง พวกเราไม่มีความสำคัญเลยหรืออย่างไร?"
ภาพและข้อความแสดงความทุกข์ทรมานของคนไทยที่ "ติดค้างอยู่ในต่างแดน" "คู่รักต้องพลัดพราก" "บุตรที่ไปดูใจบุพการีก่อนสิ้นใจไม่ได้" มีผู้แชร์ออกไปเกือบ 8 พันครั้ง
ข้อเรียกร้องของทางเพจ คือ
1. ขอให้พิจารณาออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ครอบครัวและคู่รักได้เจอกัน ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม โดยพิจารณาจากหลักฐาน เช่น พาสปอร์ตที่เคยเดินทางเข้าไปประเทศไทย รูปถ่าย ข้อความ หรือวิดีโอต่าง ๆ เพื่อยืนยันความเป็นคู่รักและครอบครัว
2. พิจารณาเพิ่มเที่ยวบินพิเศษ เพื่อรองรับคนที่ตกค้างอยู่ต่างประเทศ
"เราโดนทั้งรัฐบาลและคนไทยด้วยกันลืม" เทพสวรินทร์ตัดพ้อ
"เราจะผ่านไปด้วยกัน" เป็นประโยคที่ย้อนแย้งในสายตาเธอ เพราะพวกเธอเอง "อดทน" และทำตาม "กติกา" เช่นเดียวกับคนไทยทุกคน จนตอนนี้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลายคนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ "เขาลืมพวกเราที่ได้รับผลกระทบอยู่ตรงนี้ เรายังกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้เลย"
ทะเบียนสมรสไม่ใช่เครื่องพิสูจน์รัก
เทพสวรินทร์ ในฐานะผู้ดูแลเพจ (แอดมินเพจ) Love is not tourism Thailand อยากให้รัฐบาลแบ่งโควตาชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตเข้าประเทศไทย ที่พิจารณาให้กับ นักธุรกิจ กองถ่ายทำ และแรงงานต่างด้าว มาให้กับคู่รักชาวต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบ้าง
ข้อเรียกร้องนี้เป็นเศษเสี้ยวของความหวังที่ พลรัตน์ วิเศษพงษ์พันธ์ วัย 26 ปี จะได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนรักชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง
"เราวางแผนจะบินมาไทยเพื่อเริ่มธุรกิจด้วยกัน แล้วช่วงที่ผมกับแฟนลาออกจากงาน ประเทศก็ปิดพอดี ตอนนี้เลยว่างงานอยู่" หนึ่งในแอดมินเพจ กล่าวกับบีบีซีไทย
แฟนสาวชาวญี่ปุ่นของเขา เป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินหนึ่งในญี่ปุ่น วันสุดท้ายของการปฏิบัติงาน เป็นหนึ่งวันก่อนที่ไทยจะปิดน่านฟ้า ทำให้เตรียมตัวเดินทางมาไทยไม่ทัน
"สะเทือนใจที่สุดก็คือช่วงแรก ๆ ประเทศไทย มีข่าวจะทำทราเวลบับเบิลเดือนนี้ จะเปิดเดือนนี้นะ แต่พอเวลามันถึงเวลาที่จะมีข่าวดี เขาก็เลื่อนออกไปอีก"
พลรัตน์เปิดเผยว่า เขามีปัญหาโรคซึมเศร้า และแฟนสาวมักเป็นคนคอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ แต่ "เราขาดเขาไป การใช้ชีวิตของเรา มันก็เปลี่ยนไปเลยนะครับ"
เมื่อทางเพจพยายามผลักดันข้อเรียกร้องว่า การเปิดน่านฟ้าให้เที่ยวบินพาณิชย์ภายใต้เงื่อนไขการตรวจเชื้อและกักกันตัวจะแก้ปัญหาทุกอย่าง พวกเขากลับถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางส่วนที่มองว่าพวกเขา "เห็นแก่ตัว"
"คนที่อยากเจอคนรัก อยากเจอแฟน หรืออะไรก็ตาม เขาไม่ได้อยากมาเป็นตัวแพร่เชื้อโรค…อยากให้ทุกคนช่วยกันเปิดใจ วางมาตรการดี ๆ ผมคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางการแพทย์ที่เพียงพอที่จะดูแลบุคคลที่จะเข้ามาตรงนี้"
อำลาบุพการี…ผ่านวิดีโอคอล
เที่ยวบินพิเศษที่มีโควตาที่นั่งจำกัด ทำให้คนไทยในต่างแดนนับหมื่นคน ได้แต่เฝ้ารอและ "แย่งชิง" เพื่อให้ได้กลับไทย เหตุผลของ นิธิวดี รามฤทธิ์ หญิงไทยที่ทำงานอยู่ในฟิลิปปินส์ คือการร้องขอโอกาสเพื่อร่ำลาบุพการีเป็นครั้งสุดท้าย
"คุณแม่ท่านป่วยเป็นโรคหัวใจและมีภาวะน้ำท่วมปอด…หมอเลยอยากให้เรากลับมาดูใจท่าน" เธอเล่าผ่านวิดีโอคอล จากห้องคอนโดมีเนียมที่เช่าอยู่กับเพื่อนในกรุงมะนิลา ที่ตอนนี้เผชิญการล็อกดาวน์รอบสอง จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมพุ่งสูงเป็น 1.4 แสนคนแล้ว
เมื่อทราบข่าว เธอรีบแจ้งความประสงค์กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ถึงเหตุจำเป็นต้องรีบกลับไทย แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า "ต้องรอทางรัฐบาลไทยประกาศโควตาที่นั่ง"
นิธิวดีเป็นหนึ่งในคนไทย 100 คนในฟิลิปปินส์ ที่จะได้กลับไทยวันที่ 15 ส.ค. นี้ หลังจากพยายามแย่งจองโควตาอย่างยากลำบาก แต่อาการของมารดาทรุดหนักลงทุกวัน
"หมอเขาบอกเหมือนแม่เขามีห่วงรอใครอยู่หรือเปล่า เราก็รู้แหละว่าเขารอเรา เพราะเราน่ะอยู่ไกลสุด" เสียงของเธอเริ่มสั่นเครือ "เลยบอกพี่ชายว่า ยังไงขอหมอให้หน่อยว่า เรามีความในใจที่ยังอยากคุยกับแม่"
"วันนั้นที่ได้พูดไป คือ ได้บอกรักแกผ่านวิดีโอคอล แล้วก็ได้ขอขมา แล้วก็บอกแกว่าไม่อยากให้ต้องมาเป็นห่วงเรา เพราะว่าโรคภัยที่แกเป็นแกก็เหนื่อยมาก ร่างกายแกก็ไม่ไหวแล้ว สิ่งสุดท้ายที่บอกแกคือ ไม่ต้องห่วงหนูนะ ถึงเวลาที่แม่ต้องพักแล้ว แม่ก็พักเถอะ" และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่นิธิวดีได้เห็นมารดาที่ยังมีลมหายใจ แม้เพียงผ่านหน้าจอโทรศัพท์
ปัจจุบัน เธอยังขอให้พี่ชายเก็บร่างของคุณแม่ไว้ จนกว่าจะกลับถึงไทย เพราะอย่างน้อย อยากทำหน้าที่ของลูก "ไปส่งท่านในภพภูมิใหม่ด้วยตัวเราเอง"
"อยากจะจับมือ อยากจะกอด หอมแก้มเป็นครั้งสุดท้าย เพราะยังไม่มีโอกาสได้ทำเลย"
คนไทยทั่วโลกเรียกร้องเพิ่มเที่ยวบินกลับบ้าน
เดือน ส.ค. รัฐบาลไทยกำหนดโควตาให้คนไทยในฟิลิปปินส์ที่ต้องการกลับประเทศเพียง 175 ที่นั่ง ส่วนที่สหราชอาณาจักร ได้เพิ่มเที่ยวบินเป็น 3 เที่ยวบิน รวม 650 ที่นั่งในเดือนนี้ แต่ยังไม่เพียงพอ
1 ส.ค. 2020 วันแรกที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร เปลี่ยนรูปแบบการจัดเที่ยวบินพิเศษกลับไทย จากการลงทะเบียนออนไลน์แจ้งความประสงค์กลับกับทางสถานทูตฯ มาเป็น "จองตั๋ว" ออนไลน์ เองทางเว็บที่สถานทูตจัดทำขึ้น โดยยกเลิกรายชื่อคนไทยหลายพันคนที่ลงทะเบียนเข้าคิวก่อนหน้าทั้งหมด
เพียงไม่กี่นาที หลังเปิดระบบให้เข้าลงทะเบียนและจองตั๋วเที่ยวบินพิเศษในเวลา 9:00 น. ตามเวลาในสหราชอาณาจักร หน้าเว็บไซต์ลงทะเบียนจองเที่ยวบินพิเศษ ปรากฏข้อความว่า "ปิดปรับปรุงระบบชั่วคราว โปรดรอการประกาศอีกครั้ง"
คนไทยในอังกฤษจำนวนมากส่งข้อความสอบถามไปทางสถานทูตฯ พร้อมวิจารณ์ถึงระบบที่ขัดข้อง และความล่าช้าในการแก้ปัญหา พวกเขายังเปิดเผยถึงเหตุผลที่ต้องรีบเดินทางกลับภูมิลำเนา อาทิ
"ขอให้ฉันได้ทีนะ พ่อป่วยหนักมาก มะเร็งระยะสุดท้าย ขอให้ได้ไปทันใจพ่อทีเถอะ สาธุ"
"เจอระบบล่มแบบนี้อีกคือท้อมาก ถ้าไม่ได้กลับบ้านจริง ๆ จะเอาตังค์ที่ไหนจ่ายค่าคลอดที่นี่ แค่ค่าฝากครรภ์ตอนนี้ก็สาหัสพอแล้ว เครียดมาก ๆ ค่ะ"
รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง…แต่ต้องคำนึงความพร้อม
บีบีซีไทยได้นำข้อเรียกร้อง 'เพิ่มเที่ยวบินพิเศษ' และการออกวีซ่าให้ 'คู่รักต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส' สอบถามกับกระทรวงการต่างประเทศ
เชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า
"ในชั้นนี้ สถานเอกอัครราชทูตในประเทศต่างๆ ได้พยายามจัดเที่ยวบินเพื่อนำคนไทยกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับได้ราว 600 คนต่อวัน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านการจัดสถานที่กักกันเชื้อโรคแบบ State Quarantine และ Alternative State Quarantine ภายในประเทศด้วย"
กระทรวงการต่างประเทศยืนกรานว่า แม้จะมีโควตาที่จำกัด แต่หากเป็นกลุ่มคนไทยที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น ผู้ป่วย จะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น
ในส่วนของการยื่นขอวีซ่าสำหรับคู่รักต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนแต่ 'มีบุตรร่วมกัน' เชิดเกียรติชี้ว่า จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
หลักเกณฑ์ระบุว่า บิดา มารดา หรือบุตรของผู้มีสัญชาติไทยจะต้องใช้ (1) ทะเบียนสมรส หรือ (2) หลักฐานเทียบเท่า หรือ "เอกสารยืนยันความสัมพันธ์กับผู้ที่มีสัญชาติไทย" แต่ทางกระทรวงฯ ไม่ได้ลงรายละเอียดว่า เอกสารยืนยันความสัมพันธ์ที่จำเป็น มีอะไรบ้าง
แขกวีไอพี ทหารอเมริกัน แล้วพวกเราล่ะ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "ขอโทษ" ต่อกรณีทหารอียิตป์ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางเข้าพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อเดือน ก.ค. โดยไม่กักตัวว่าเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้นและเป็นการไม่เคารพกติกา
"ผมในฐานะเป็นผู้อำนวยการ ศบค. ขอรับผิดชอบในส่วนตรงนี้ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องหาวิธีปิดจุดความหละหลวมเหล่านี้ให้ได้"
แต่กรณีแขกพิเศษของรัฐบาล-กองทัพ ยังคงมีอยู่ กลุ่มทหารอเมริกัน 110 นายเดินทางเข้ามาร่วมฝึกในไทย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ภายใต้ข้อกำหนดของ ศบค. ที่ต้องผ่านการตรวจหาเชื้ออย่างเข้มงวด และเข้าสถานกักกันตัวของรัฐแบบทางเลือก จำนวน 14 วัน
"เราก็น้อยใจแหละ โห ทำไมเขาเข้าไทยง่ายจัง" นิธิวดีพูดพลางหัวเราะแห้ง ๆ
"เราเดือดร้อนจริง ๆ เรามีความจำเป็นต้องกลับจริง ๆ นะ เรามีคนที่รอเราอยู่ เวลาเหลือน้อยลงแล้วด้วย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ รอการอัปเดตอย่างเดียว"
กระแสตอบรับที่ดี และมีคนเข้าใจถึงสถานการณ์ของพวกเขามากขึ้น แอดมินเพจ Love is not tourism Thailand กำลังล่ารายชื่อใน Change.org และเตรียมร่างหนังสือเพื่อเดินทางไปยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศ และ ศบค. ในสัปดาห์นี้
อย่างน้อย พวกเขาอยากให้รัฐบาลไทยพิจารณาอนุโลมวีซ่าเข้าประเทศไทย สำหรับคู่รักต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
"จริง ๆ มันไม่ต่างเลย ในเคสของจดทะเบียนแล้ว หรือยังไม่จดทะเบียน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักกัน" พลรัตน์แสดงความเห็น
หากข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้รับการสนองตอบ และไทยยังปิดน่านฟ้าต่อไป เรื่องราวที่น่าสะเทือนใจของการพลัดพราก หญิงไทยที่ต้องคลอดบุตรเพียงลำพัง ลูกที่ต้องอำลาบุพการีในวาระสุดท้ายของชีวิตผ่านจอโทรศัพท์ จะยังคงมีให้เห็นต่อไป ในฉากหน้าของสังคมไทยที่กำลังกลับสู่ภาวะ 'ปกติใหม่'
"นั่นแหละ…เราเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืม" เทพสวรินทร์ ทิ้งท้าย
August 12, 2020 at 09:03AM
https://ift.tt/3afrlIp
วันแม่ : สกัดโควิด-19 ปิดน่านฟ้า พาคนรักพลัดพรากยามคับขัน - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3hbQyqg
Bagikan Berita Ini
0 Response to "วันแม่ : สกัดโควิด-19 ปิดน่านฟ้า พาคนรักพลัดพรากยามคับขัน - บีบีซีไทย"
Post a Comment